CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

‘บางจาก’ กับวิสัยทัศน์ Digital Transformation ที่มีเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ และคน เป็นส่วนสำคัญ

27.05.2021

‘บางจาก’ กับวิสัยทัศน์ Digital Transformation ที่มีเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ และคน เป็นส่วนสำคัญ

เมื่อความเปลี่ยนแปลงไม่เคยรอใคร โจทย์ใหญ่ขององค์กรยุคนี้คือการปรับตัวให้เท่าทันกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หนึ่งในวิธีการปรับตัวที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่ทุกองค์กรเร่งทำในตอนนี้ก็คือ Digital Transformation ที่แม้จะเป็นคำที่พูดกันบ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำได้สำเร็จ

 

หนึ่งในองค์กรที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และทำเรื่อง Digital Transformation อย่างจริงจัง คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศแนวคิดในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่โลกดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อปรับกลยุทธ์องค์กรในการรองรับโอกาสและความสำเร็จทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

Digital Transformation สำคัญอย่างไร แล้วองค์กรใหญ่อย่าง ‘บางจาก’ ปรับตัวสู่ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างไร THE STANDARD พูดคุยกับ โชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อถ่ายทอดมุมมองในฐานะผู้นำด้านธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน พร้อมทั้งวิธีการเลือกพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในการปรับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

 

รับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วย Digital Transformation  

ความท้าทายของธุรกิจน้ำมันทั่วโลกในขณะนี้ก็คือ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะองค์กรใหญ่อย่างบางจากที่นอกจากความเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศทั้งนโยบายภาครัฐ พฤติกรรมผู้บริโภคและกลยุทธ์การแข่งขันของคู่แข่งแล้ว ยังต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกด้วย ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ซึ่งนอกจากจะปรับมายด์เซ็ตของคนทำงานในองค์กรให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่บางจากทำมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการนำเครื่องมือด้าน IT Solution มาปรับใช้กับในหลายภาคส่วนขององค์กร เพื่อจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และฉับไว

 

โดยโครงสร้างธุรกิจหลักของบางจาก คือ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจการตลาด ซึ่ง IoT หรือ Internet of Things ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อช่วยในเรื่องการติดตามการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ การตรวจเช็คประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยผลิต รวมถึงการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาซ่อมบำรุง และการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้การทำงานของโรงกลั่นราบรื่น ไม่ติดขัด โดยมีเซ็นเซอร์ติดอยู่ตามจุดต่างๆ

 

ส่วนในแง่ธุรกิจการตลาด สิ่งที่บางจากนำมาใช้อย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือเรื่อง Data Analytics ที่นำข้อมูล Big Data มาสังเคราะห์ ก่อนจะรวบรวมเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจ และวางกลยุทธ์อย่างแม่นยำภายใต้ระบบการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะจากสถานีบริการกว่า 1,200 แห่งของบางจาก นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อทำการตลาดในลักษณะ Personal Offering รวมถึงการพัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการแก่ลูกค้าเช่น ระบบนวัตกรรม Bangchak Digital Payment ในการรับชำระค่าน้ำมันด้วย QR Code หรือบัตรเครดิตผ่านเครื่อง Mobile EDC ณ จุดเติมน้ำมันซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที และสามารถตรวจสอบความถูกต้องก่อนยืนยันการรับชำระเงิน โดยลูกค้าไม่ต้องออกจากตัวรถเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าเกิดความประทับใจสูงสุดในการใช้บริการด้วย

 

“โจทย์สำคัญของธุรกิจในวันนี้คือทำอย่างไร เราจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และหาโอกาสทางธุรกิจด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  การใช้เครื่องมือด้านไอทีและดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค หรือข้อมูลการทำงานของเครื่องจักร เราไม่อยากตัดสินใจอะไรบนพื้นฐานของการคาดเดาหรือใช้ความรู้สึก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเข้ามาช่วยการทำงานของเราได้อย่างมาก” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร กล่าว

 

 

CAT SD-WAN พาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลคนสำคัญ

อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของบางจากในการเชื่อมโยงข้อมูลจากเครือข่ายสำนักงานและคลังน้ำมันตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ  รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทในกลุ่ม BCPG ที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด คือการใช้บริการ SD-WAN จาก CAT หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อข้อมูลมหาศาลมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางด้วยความรวดเร็ว และมีเสถียรภาพ 

 

“เนื่องจากบางจากและบริษัทในเครือมีสาขาจำนวนมากที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลจากสาขาต่างๆ มาที่สำนักงานใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่เราต้องใช้การเชื่อมโยงข้อมูลค่อนข้างเยอะ รวมถึง การประชุมผ่านระบบ Conference ซึ่งเครือข่าย SD-WAN ก็เข้ามาช่วยเราในการบริหารจัดการเครือข่ายให้มีความรวดเร็ว และมีเสถียรภาพในการเชื่อมโยง ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

นอกจากจะตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพการทำงานแล้ว SD-WAN ยังมีบทบาทอย่างมากในการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในอนาคต ด้วยจุดเด่นของระบบที่ติดตั้ง สะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญด้วยการบริหารระบบจากศูนย์กลาง สามารถกำหนดนโยบายการเข้าถึง website หรือบริการต่างๆ ของงานระบบเครือข่ายสาขาได้ ทำให้จัดการเรื่อง Cyber Security ได้ดีขึ้น

 

“การที่เราจะตามเทคโนโลยีให้ทัน จำเป็นที่จะต้องมีพาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลที่มีความเข้มแข็ง อย่างในธุรกิจโรงกลั่น เราก็จำเป็นต้องจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของกระบวนการผลิต เช่นเดียวกับ CAT ที่เป็นอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์ที่เราไว้วางใจในการใช้บริการที่มาช่วยบริหารจัดการเน็ตเวิร์ก การสื่อสาร ที่ทำให้การทำงานมีความรวดเร็ว ปลอดภัย และรองรับการเติบโตขององค์กรในอนาคต” โชคชัย กล่าว

 

 

Digital Culture เพราะเรื่อง ‘คน’ สำคัญไม่แพ้ ‘เทคโนโลยี’

นอกจากความท้าทายด้านเทคโนโลยีแล้ว ในอีกด้านที่บางจากพยายามมุ่งเน้น คือการสร้าง Digital Culture ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร โดยพยายามปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตและรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่เราลงทุนเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ แต่ถ้าวิธีการทำงาน และพฤติกรรมของการทำงานยังเหมือนเดิม มันก็ไม่คุ้มกับการลงทุน และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเหล่านั้นก็คงจะสูญเปล่า เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามพัฒนาพนักงานให้มีความคุ้นเคย รู้เท่าทัน และสามารถสร้างโอกาสในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจและการทำงาน เช่น การนำเอาเทคโนโลยี RPA (Robotic Process Automation) เข้ามาช่วยงานที่มีลักษณะขบวนการทำงานซ้ำๆ กับระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การคีย์หรือการจัดรูปแบบข้อมูลแทนคน เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาไปคิด พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากกว่าการที่จะทำในสิ่งที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ โดยการพัฒนา RPA นั้นเรายังได้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงานที่ไม่ใช่สาย IT หรือ user ให้สามารถเขียนโปรแกรมง่ายๆ ขึ้นมาใช้ได้ด้วยตัวเองกลายเป็น super user ด้วย

 

และที่สำคัญอีกเรื่องคือ ความพร้อมในการยอมรับปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงภายใต้ค่านิยมซึ่งบริษัทได้พัฒนาปลูกฝังพนักงานคือ I AM BCP โดย I คือ Innovation หรือนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ AM คือ Agility และ Mobility คือ พร้อมใจเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเองให้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นค่านิยมใหม่เพิ่มเติมจากค่านิยมเดิม BCP ของเรา ที่มาจาก Beyond Expectation แสวงหาความเป็นเลิศ Continuous Development การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ Pursuit of Sustainability การนำพาสู่ความยั่งยืน เชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะสามารถทำให้องค์กรของเราก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน” โชคชัย กล่าวทิ้งท้าย

 

By THE STANDARD

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา